ReadyPlanet.com
dot
our service
dot
bulletบ้านครบวงจร
bulletออกแบบบ้าน
bulletสร้างบ้าน
bulletปรับปรุงบ้าน
bulletซ่อมแซมและบำรุงรักษาบ้าน
bulletต่อเติมบ้าน
bulletแก้ปัญหาอาคารทรุด
bulletปรับปรุงฐานราก
bulletแตกร้าว รั่วซึม ซ่อมได้
dot
website link
dot
bulletบ้านมือสอง
bulletวิศวกรรมสถาน
bulletสภาวิศวกร
bulletสมาคมสถาปนิกสยาม
bulletสภาสถาปนิก
bulletตรวจสอบอาคาร
bulletโยธาธิการและผังเมือง
bulletไทยเอนจิเนียริ่ง
bulletเสริมเข็ม ดีดอาคาร
dot
รับข้อมูลข่าวสารจากเรา

dot




คำถามที่พบบ่อย

(Q) อยากสร้างบ้านสักหลัง ต้องทำอะไรบ้าง ?
(A) แยกตอบเป็นบ้านโครงการจัดสรร และปลูกบ้านบนที่ดินนะครับ
1. กรณีคุณอยากได้บ้านจัดสรรของโครงการ ให้คุณเข้าไปที่สำนักงานขายของแต่ละโครงการ ซึ่งบ้านแต่ละแบบ แต่ละทำเล ราคาก็จะแตกต่างกันออกไป ซึ่งเขาจะมีขั้นตอนของ Bank Statement ให้เสร็จสรรพ ว่าผ่อนชำระกี่ปี เดือนละเท่าไร โดยที่คุณต้องนำเอกสารทางการเงินไปแสดง เช่น สลิปเงินเดือนของคนในครอบครัว ใบจดทะเบียนนิติบุคคล และอื่นๆ โดยปกติอัตราการผ่อนชำระที่ธนาคารพิจารณาจะไม่เกินร้อยละ 30 ของรายได้รวมของผู้ร่วมกู้ทุกคนในครอบครัว นี่เป็นภาพกว้างๆ นะครับ
2. กรณีคุณต้องการปลูกบ้านบนที่ดิน
2.1 เริ่มจาก ถามตนเองและครอบครัวว่ามีความต้องการอะไรบ้าง เช่น ต้องการกี่ห้องนอน กี่ห้องน้ำ บ้านกี่ชั้น เป็นต้น พร้อมกำหนดงบประมาณในใจและไม่หลอกตัวเองว่าจะปลูกบ้านให้เสร็จได้ โดยอาจเผื่องบประมาณที่บานปลายไว้สัก 10-15%
2.2 หาสถาปนิกสักคนมาออกแบบให้ โดยบอกโจทย์ความต้องการของคุณ และงบประมาณที่คุณคิดไว้โดยอาจเริ่มจาก
 - ติดต่อผ่าน Connection คนรู้จัก
 - ติดต่อผ่านทางสมาคมสถาปนิกสยามแห่งประเทศไทย (
http://www.asa.or.th) หรือสภาวิศวกร (http://www.coe.or.th)
 - ขับรถตระเวณดูบ้านในสไตล์ที่เราชอบ ขอเบอร์ติดต่อสถาปนิกที่ออกแบบกับเจ้าของบ้านนั้นๆ
 - ดูผ่านเว็ปไซท์สร้างบ้านสำเร็จรูป (Turnkey Home) แล้วว่าจ้างเขาโดยอาจซื้อแบบเขาอย่างเดียวก็ได้ ถ้าเราชอบ หรืออาจทั้งออกแบบและก่อสร้างเลยก็ได้
2.3 ถ้าคุณมีเงินเพียงพอให้ผ่านข้อนี้ไป แต่ถ้าเงินเก็บคุณไม่พอ ให้ทำเรื่องกู้ โดยมีหลักฐานคร่าวๆ ดังนี้
 - สลิปเงินเดือนของผู้ร่วมกู้ทุกคน หรือเงินเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน หรือ 1 ปี (Bank Statement)
 - หลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคล (ถ้ามี)
 - โฉนดที่ดิน, สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, เอกสารส่วนตัวอื่นๆ
 - เอกสารแห่งสัญญา (Document of Contract) ซึ่งประกอบด้วย แบบก่อสร้าง, สัญญาก่อสร้าง, บัญชีแสดงปริมาณงาน, ใบอนุญาติก่อสร้าง เป็นต้น
2.4 หาผู้รับเหมาที่น่าเชื่อถือและมีมาตรฐานการทำงานที่ดีมาปลูกบ้านให้คุณสักคน

(Q) ค่าออกแบบบ้าน เขาคิดกันอย่างไร ?
(A) ตามมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำหรับการออกแบบบ้าน ถือเป็นการออกแบบประเภทที่ 3 และสัดส่วนจะลดลงตามมูลค่างานที่เพิ่มขึ้น ดังนี้คือ
ราคาบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท ค่าออกแบบร้อยละ 7.50
10-30 ล้านบาทถัดไป  ค่าออกแบบร้อยละ 6.00
30-50 ล้านบาทถัดไป  ค่าออกแบบร้อยละ 5.25
50-100 ล้านบาทถัดไป  ค่าออกแบบร้อยละ 5.00
100-200 ล้านบาทถัดไป ค่าออกแบบร้อยละ 4.50
200-500 ล้านบาทถัดไป ค่าออกแบบร้อยละ 4.00
ตัวอย่างเช่น สร้างบ้านราคา 20 ล้านบาท คิดค่าออกแบบดังนี้
10 ล้านบาทแรก  คิดเป็นเงิน 7.5/100x10,000,000 = 750,000 บาท
10 ล้านบาทถัดไป คิดเป็นเงิน 6.0/100x10,000,000 = 600,000 บาท
รวมทั้งสิ้น 1,350,000 บาท เป็นต้น ซึ่งค่าออกแบบนี้ทางสถาปนิกจะนำไปแบ่งกับวิศวกรออกแบบโครงสร้าง, วิศวกรงานระบบสุขาภิบาล, วิศวกรไฟฟ้า นะครับ

(Q) อยากทราบกฏหมายก่อสร้าง จะถามใครหรือหน่วยงานไหนดี?
(A) กฏหมายก่อสร้างเป็นเรื่องของหลายหน่วยงานนะครับ แต่เท่าที่นึกออก มีดังนี้นะครับ
1. เขต หรือเทศบาล ที่ดูแลเกี่ยวกับการขออนุญาติปลูกสร้างอาคาร
2. กรมโยธาธิการและผังเมือง
แต่ถ้าคุณไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน แนะนำให้สอบถามทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย หรือ สภาสถาปนิก ครับ

(Q) อยากได้แบบก่อสร้าง จะดำเนินการอย่างไร ?
(A) เท่าที่นึกออกมี 3 วิธีนะครับ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็แตกต่างกัน
1. จ้างสถาปนิกมาออกแบบให้คุณสักคน แบบนี้มีข้อดีคือ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคุณได้อย่างชัดเจนและลงตัวที่สุด แต่ข้อเสียคือ ราคาอาจแพงที่สุด
2. เปิดเวปไซท์บ้านสำเร็จรูป (Turnkey Home) เลือกแบบบ้านที่คุณต้องการ แบบนี้ข้อดีคือ คุณเห็นแบบร่างก่อนและมีให้เลือกได้หลายแบบ แต่ข้อเสียคือ เขามักจะไม่ค่อยแก้ไขแบบให้คุณ หรือถ้าแก้ก็อาจมีค่าใช้จ่ายมากทีเดียว
3. ซื้อแบบบ้านเพื่อประชาชนกับเขต หรือเทศบาล ในท้องที่ของคุณ แบบนี้ข้อดีคือราคาถูกที่สุด เสียค่าใช้จ่ายเพียงถ่ายเอกสารเท่านั้น แต่บ้านคุณก็อาจจะไปเหมือนเพื่อนบ้านโดยไม่ตั้งใจนะครับ

(Q) ถ้าจะปลูกบ้านสักหลัง เรามีวิธีการพิจารณาคัดเลือกผู้รับเหมาอย่างไรบ้าง ?
(A) มีข้อควรพิจารณาหลายประการคือ
1. ผลงานที่ผ่านมาและประสพการณ์การทำงาน ถ้าไปดูสถานที่จริงด้วยตนเองได้จะดีมาก เนื่องจากจะเห็นรายละเอียดและคุณภาพงานได้อย่างชัดเจน
2. ความน่าเชื่อถือ ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในงานที่ทำเป็นอย่างดี อาจถามคำถามพื้นฐานช่างหรือวิศวกรรมทั่วไป เช่น ควบคุมงานตอกเสาเข็มอย่างไร, การฉาบปูนที่ถูกต้องทำอย่างไร, การปูกระเบื้องที่ดีทำอย่างไร เป็นต้น
3. สภาวะทางการเงินของผู้รับเหมา เช่นสภาพคล่องทางการเงิน อาจสังเกตุได้จากผลงานที่ผ่านมาว่าขนาดหรือสเกลของงานใกล้เคียง หรือมากกว่าบ้านของเรา เป็นต้น

(Q) อยากต่อเติมบ้าน มีข้อควรพิจารณาอย่างไรบ้าง ?
(A) การต่อเติมที่ถูกต้องมีหลักการกว้างๆ ดังนี้คือ
1. ต้องแยก ฐานราก เสา คาน พื้น ผนัง ฝ้าเพดาน และส่วนอื่นๆ ออกจากอาคารเดิม ต้องไม่นำทุกส่วนของงานต่อเติมไปยึดติดกับโครงสร้างเดิม
2. ควรใช้วัสดุเบาที่สุด เช่น ใช้ผนังเบา เพื่อลดภาระโครงสร้าง และลดอัตราการทรุดตัว
3. ต้องไม่รุกล้ำทุกส่วนของอาคารไปยังอาคารข้างเคียง แม้แต่น้ำฝนจากชายคา ก็ต้องตกในที่ดินของผู้ต่อเติม
4. ไม่ปูวัสดุคร่อมรอยต่อโครงสร้างเดิมและโครงสร้างต่อเติม
5. บริเวณรอยต่อผนังส่วนต่อเติมอาจเว้นรอยต่อไว้สัก 5 มม. แล้วอุดด้วยวัสดุยืดหยุ่น เช่น Polyurethane แล้วนำบัวมาปิดโดยอาจยึดแค่ด้านเดียว เช่นเดียวกับฝ้าเพดาน
6. บริเวณหลังคา อาจทำปีกนกคอนกรีตเสริมเหล็กโดยยึดกับโครงสร้างเก่าด้านเดียว หรือ อาจเป็นแผ่นสังกะสี หรือ สแตนเลส เผื่อการทรุดตัวที่เกิดขึ้นในอนาคต
7. ต้องเผื่องบประมาณและระยะเวลาที่บานปลาย เพราะงานต่อเติมมีโอกาสบานปลายได้ง่ายกว่างานสร้างใหม่
8. อย่าเห็นกับงานราคาถูกเป็นหลัก คือต้องพิจารณาโดยรวม คือ ดูผลงาน ดูความน่าเชื่อถือประกอบด้วย
9. ตรวจสอบข้อกฏหมายการดัดแปลงอาคารและระยะร่นของอาคารทุกด้านของบ้าน

(Q) งานต่อเติมบ้านใช้เข็มสั้น 6 เมตรได้หรือไม่ ?
(A) ในทางวิศวกรรมสามารถทำได้นะครับ แต่จำนวนของเสาเข็มควรสอดคล้องกับน้ำหนักที่ถ่ายลงฐานรากต่อต้นด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้คุณควรปรึกษาวิศวกรเพื่อวิเคราะห์โครงสร้าง รวมถึงเทคนิคในการตัดแยกรอยต่อโครงสร้าง โดยไม่มีส่วนใดที่ยึดกับโครงสร้างเดิม และไม่มีการปูวัสดุคร่อมรอยต่อนะครับ แต่ถ้าคุณต่อเติมถึง 2 ชั้น จริงๆ แล้วผมแนะนำใช้ระบบเสาเข็มยาวเช่นเดียวกับโครงสร้างก็ไม่ถือเป็นการสิ้นเปลืองอะไร เพราะน้ำหนักของส่วนต่อเติม 2 ชั้น และสามารถควบคุมการทรุดตัวได้ดีกว่า ถือว่าคุ้มค่าแล้ว อาจใช้ระบบเสาเข็มเจาะก็ได้นะครับ

(Q) คานร้าว, เสาร้าว, พื้นร้าว กลุ้มใจมาก ทำอย่างไรดี ?
(A) รอยร้าวที่โครงสร้างหลักถือว่าค่อนข้างอันตราย และถ้าไม่รีบซ่อมแซม ความเสียหายจะลุกลามเร็วมาก ขออนุญาติแนะนำดังนี้นะครับ
1. ให้คุณหาวิศวกรสักคนมาตรวจสอบและวิเคราะห์หาสาเหตุของการแตกร้าว พร้อมเสนอแนะวิธีการแก้ไข
2. ดำเนินการแก้ไข ซึ่งควรมีการควบคุมดูแลโดยวิศวกรเท่านั้น เนื่องจากการแก้ไขโครงสร้างบางวิธีอาจมีความเสี่ยงสูง เช่น ปรับปรุงฐานราก, หรือการสกัดเสาและคานเพื่อซ่อมแซมรอยร้าว เป็นต้น

(Q) พื้นดาดฟ้ารั่ว คอนกรีตหลุดล่อน แก้ไขอย่างไรดี ?
(A) ช่างส่วนใหญ่เข้าใจว่า เวลาเกิดน้ำรั่ว ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า หรือหลังคากระเบื้อง นำปูนไปอุดบ้าง เทปูนทับรอยรั่วบ้าง หรือเทปรับระดับดาดฟ้าทับลงไปบ้าง นับเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ผิดพลาดอย่างมาก เนื่องจาก
1. การเทปูนทับหรือการปูกระเบื้องทับเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับโครงสร้างและอาจลดสัดส่วนความปลอดภัยของอาคารลง เช่น การเทปูนทับหรือปูกระเบื้องบนดาดฟ้าในความหนา 5 ซม. เป็นการเพิ่มน้ำหนักกับโครงสร้างถึง 120 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในขณะที่วิศวกรออกแบบน้ำหนักบรรทุกจรของดาดฟ้า เพียง 100 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เป็นต้น
2. ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เนื่องจากคอนกรีตหรือปูนทรายที่เทใหม่ ไม่สามารถยึดติดเป็นเนื้อเดียวกันกับคอนกรีตเก่าได้สนิท เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง น้ำจะไหลลอดระหว่างรอยต่อคอนกรีตตรงนั้นและรั่วลงมาเหมือนเดิม
ไม่แน่ใจสภาพความเสียหายนะครับ แนะนำเป็น 3 วิธี ใน 3 เงื่อนไขที่แตกต่างกันนะครับ
1. กรณีเหล็กเป็นสนิมดันคอนกรีตล่อนกะเทาะ เนื้อที่ประมาณไม่เกิน 20% ของพื้นที่ทั้งหมด
 - ทำระบบกันซึมด้านบนดาดฟ้าที่เป็นด้านรับน้ำ
 - สกัดเปิดคอนกรีตคุณภาพต่ำออก เปิดปากแผล ให้ถึงคอนกรีตคุณภาพดี
 - ใช้แปรงขัดสนิมออกหรือทาน้ำยาเปลี่ยนสนิมเหล็กในกรณีที่เป็นสนิมผิว หรือ ถ้ามีการผุกร่อนของเหล็กมากเข้าไปในเนื้อเหล็กหรือสนิมขุม ให้ตัดเหล็กเดิมออกจนถึงเหล็กที่ดี แล้วทาบเหล็กขนาดเดียวกันมัดทาบตามระยะทาบที่วิศวกรกำหนดทั้ง 2 ด้าน
 - ใช้ Repair Mortar หรือ ปูนซ่อมโครงสร้าง ซึ่งมีหลายยี่ห้อในท้องตลาด เช่น ทำการ Patching หรือใช้เกรียงเหล็กฉาบอัดเป็นชั้นๆ ให้เต็มตามระนาบพื้นเดิม ตบแต่งผิวด้วยการฉาบทั่วไป ย้ำว่าต้องใช้ Repair Mortar เท่านั้น ห้ามใช้ปูนผสมทรายทั่วไปมาฉาบเนื่องจากมีการหดตัวมาก และความแข็งแรงต่ำ
2. กรณีเหล็กเป็นสนิมดันคอนกรีตล่อนกะเทาะ เนื้อที่ 20-50% ของพื้นที่ทั้งหมด
 - ทำการสกัดเปิดคอนกรีตและซ่อมแซมเหล็กเสริมพื้นเช่นเดียวกับ ข้อ 1
 - เข้าแบบท้องพื้นด้านล่าง โดยให้ระดับเสมอกับพื้นโครงสร้างเดิม และเจาะพื้นด้านบนให้เป็นรูประมาณ 10 ซม. ตามตำแหน่งที่คาดว่า จะสามารถกรอกปูนลงไปได้ทั่วถึงพื้นที่ซ่อมแซมได้โดยตลอด
 - เทคอนกรีตกำลังสูงไม่หดตัว (Non-Shrink Grout) และรื้อแบบออกเมื่อคอนกรีตได้อายุ
 - ฉาบตบแต่งผิวคอนกรีตท้องพื้นที่เทใหม่
 - ทำระบบกันซึมด้านบนดาดฟ้าที่เป็นด้านรับน้ำ
3. กรณีเสียหายมากกว่า 50%
 - ทุบแล้วทำใหม่เถอะครับ โดยคอนกรีตที่เทต้องใส่น้ำยากันซึมและมีการจี้เขย่าที่เหมาะสมเพื่อลดรูโพรงต่างๆ เพราะถ้าคุณทำ 2 วิธีแรก อาจค่าใช้จ่ายสูงกว่า
 - เมื่อทำใหม่แล้ว แนะนำว่าควรทำระบบกันซึมด้วยนะครับ

(Q) พื้นบ้านเอียงไม่ได้ระดับ เมื่อไปดูภายนอกอาคารพบว่าเกิดการเอนไม่ได้ดิ่ง จะทำอย่างไรดี ?
(A) ปัญหาของคุณถ้าไม่ใช่อุปทานก็แสดงว่า คุณอาจพบปัญหาใหญ่แล้วล่ะครับ เนื่องจากเกิดจากระบบฐานรากที่มีปัญหา ผมแนะนำอย่างนี้ครับ
1. ให้ติดต่อวิศวกรที่มีประสพการณ์ เพื่อทำการตรวจสอบการทรุดตัวของฐานราก และเสนอแนะวิธีการแก้ไข ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับปัญหาที่พบ
2. ดำเนินการปรับปรุงฐานราก ซึ่งถ้าอาคารทรุดเอียง อาจทำการดีดบ้านของคุณให้กลับสู่ระนาบปกติได้ แต่คุณอาจต้องทำใจว่าอาจเกิดการแตกร้าวของผนังบ้าง แต่สามารถซ่อมแซมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของวิศวกรเป็นสำคัญ
3. ทำการซ่อมแซมรอยแตกร้าวที่ส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ผนัง และอื่นๆ

(Q) ต่อเติมครัวด้านหลัง ผ่านไปหลายเดือนเกิดรอยร้าวที่ผนัง น้ำรั่วบริเวณหลังคา ทำอย่างไรดี ?
(A) ปัญหาของคุณ สันนิษฐานเบื้องต้นจากอาการของส่วนต่อเติมที่ผนังแตกร้าวแบบบนกว้างล่างแคบนั้น อาจเกิดได้จาก 2 สาเหตุคือ
1. มีการเชื่อมโครงสร้าง ยึดติดกับบ้านเดิม เช่นลงเข็มสั้นฝั่งปลาย ส่วนอีกด้านเชื่อมคานติดกับตัวบ้าน ซึ่งเป็นระบบเสาเข็มยาว ทำให้การทรุดตัวเกิดขึ้นมากในส่วนเสาเข็มสั้น แต่ด้านที่เชื่อมกับตัวบ้านไม่ทรุดตัว ทำให้ทรุดเอียงออกจากตัวบ้าน
2. ถึงแม้มีการตัดแยกโครงสร้าง แต่ถ้าโครงสร้างใต้ดินมีการเกยทับกัน เช่น ฝั่งติดกับตัวบ้านมีการทรุดค้างบนฐานรากบ้าน ก็อาจทำให้ทรุดเอียงได้เช่นเดียวกัน
3. การนำปูนทรายไปอุดรอยต่อที่ผนังนั้นอาจแก้ไขได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นนะครับ เพราะโครงสร้างทรุดเอนไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะแตกบริเวณแนวเดิมอีก เช่นเดียวกับหลังคาที่เอาปูนไปเททับไว้ นอกจากไม่หายรั่วแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภาระน้ำหนักให้โครงหลังคาโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
วิธีแก้ไข ไม่แนะนำให้ทุบทิ้งนะครับ เนื่องจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก และคุณก็คงจะลงทุนไปมากแล้ว กับการต่อเติมและใช้งานเพียงระยะเวลาไม่ถึงปี ขอแนะนำให้ซ่อมรอยต่อโครงสร้าง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ดังนี้คือ
1. รอยต่อพื้น แนะนำให้ตัดรอยต่อที่พื้นและใช้วัสดุจบเช่น ตัวจบสแตนเลส ตัวจบไม้ หรือวัสดุอื่นๆ อย่าปูวัสดุคร่อมรอยต่อโครงสร้างนะครับ
2. รอยต่อผนัง แนะนำให้ตัดรอยต่อให้มีขนาดประมาณ 5 ซม. ทั้งแนว ให้ขาดจากกันจากด้านในถึงด้านนอก  แล้วอาจประยุกต์เอายางหีบเพลงหรือยางหัวเก๋ง ยึดติดกับผนังด้วยกาวตะปูทั้ง 2 ด้านของผนังเดิมและผนังต่อเติม โดยติด 2 แผ่นทั้งด้านในและด้านนอก และอาจใช้บัวไม้เทียม หรือวัสดุอืนๆ มาปิดตบแต่ง โดยให้ยึดเพียงด้านเดียว
3. รอยต่อหลังคา อาจใช้แผ่นสังกะสีโดยกรีดร่องเสียบกับผนังบ้านเดิมและติดด้วยโพลียูริเทนด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งบีบโพลียูริเทนและวางบนแผ่นหลังคาส่วนต่อเติมไว้ย่นๆ หลวมๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เวลาครัวทรุดแล้วจะดึงแผ่นสังกะสีหลุดออกจากตัวบ้าน เป็นต้น

(Q) บ้านร้อนมาก โดยเฉพาะชั้นบนบ้านและช่วงเวลาบ่ายในห้องด้านที่รับแดด แก้ไขอย่างไรได้บ้าง ?
(A) ปกติแล้วผนังอาจรับอิทฺธิพลจากแสงแดดประมาณ 1/4 และหลังคาได้รับอิทธิพล 3/4 ของทั้งหมดนะครับ ดังนั้นสาเหตุหลักที่แก้ไขแล้วเห็นผลชัดเจนที่สุดคือหลังคา แต่ผมจะแนะนำทั้งผนังและหลังคานะครับ
1. ปูฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน ในส่วนของหลังคาปกติแล้วอาจใช้แผ่นสะท้อนความร้อน ที่ปูบนแปก่อนมุงกระเบื้อง แต่ถ้ามุงหลังคาไปแล้วอาจแก้ไขลำบาก
2. ทำพื้นที่ใต้หลังคาให้ระบายความร้อนได้ เช่น ใช้ฝ้าชายคาแบบมีรูระบายอากาศ หรือเจาะติดเกล็ดตายที่หน้าจั่วเพื่อระบายอากาศร้อนออกไป โดยใช้กระบวนการธรรมชาติ
3. ปลูกต้นไม้บังแสงอาทิตย์ในทิศตะวันตกหรือทิศใต้ที่แดดส่องในยามบ่าย
4. ติดม่านกันร้อนซึ่งทำด้วยวัสดุพิเศษเพื่อกันความร้อนจากแสงแดดโดยตรง หรือติดฟิล์มกรองแสงที่กระจกคล้ายกระจกรถยนต์ บริเวณช่องเปิด
5. ทาสีกันร้อนบนหลังคาและผนังซึ่งมี Insulating Microsphear Ceramics มีหลายยี่ห้อ ซึ่งสะท้อนความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง
6. ใช้เทคนิคการเบิ้ลผนังเพื่อให้มี Air Void ตรงกลาง หรืออาจใส่ฉนวนกันความร้อนตรงช่องว่างกลางระหว่างผนัง เพื่อทำให้การแลกเปลี่ยนความร้อนและความเย็นระหว่างภายนอกและภายในทำได้ยากขึ้น 

 

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ท่านสามารถทิ้งคำถามไว้ได้ที่นี่ค่ะ



ชื่อ
เบอร์โทรศัพท์
อีเมล
หัวข้อ
รายละเอียด